ลูกจ้างต้องรู้!! สิทธิที่ได้รับจากสำนักงานประกันสังคม “กองทุนเงินทดแทน” VS “กองทุนประกันสังคม”

เมื่อถามถึงสิทธิประโยชน์ที่เหล่า “ลูกจ้าง และมนุษย์เงินเดือน” จะได้รับในช่วงชีวิตการทำงานนั้น   มี 2 กองทุนหลักๆ คือ ”กองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคม” โดยทั้ง 2 กองทุนให้การช่วยเหลือ    แก่มนุษย์เงินเดือนและลูกจ้าง ที่มีทั้งความเหมือนและแตกต่างกันออกไป

 

ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิค-19 ลูกจ้างและมนุษย์เงินเดือนหลายคน เกิดความกังวลทั้งเรื่องเงิน สุขภาพ และการใช้ชีวิตในแต่ละวัน “สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน” ได้ชี้แจงทำความเข้าใจแก่ลูกจ้างให้ได้รับทราบถึงสิทธิประโยชน์และการคุ้มครอง

 

“กองทุนเงินทดแทน” เป็นกองทุนที่นายจ้างจ่ายเงินสมทบแต่เพียงฝ่ายเดียว ให้คุ้มครองลูกจ้างตั้งแต่  วันแรกที่เข้าทำงาน โดยเมื่อลูกจ้างประสบอันตรายต้องหยุดงาน สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ ตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน ลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทนเป็นค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ค่าทดแทนกรณีต่างๆ ซึ่งจะได้รับค่าทดแทน ร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ค่ารักษาพยาบาลหากเข้าโรงพยาบาลรัฐจะได้จนสิ้นสุดการรักษา    โรงพยาบาลเอกชนไม่เกิน 1 ล้าน และค่าทำศพ 40,000 บาท

 

ทั้งนี้ในปัจจุบันค่าทดแทนรายเดือนสูงสุด = 20,000×70% = 14,000 บาท ซึ่งแต่ละกรณีจะได้ค่าทดแทนแตกต่างกัน อาทิ กรณีไม่สามารถทำงานได้จะจ่ายร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน โดยได้รับค่าหยุดงานตั้งแต่   1 วัน รวมกันไม่เกิน 1 ปี ต้องมีใบรับรองแพทย์ ระบุการหยุดพักรักษาตัวและลูกจ้างหยุดจริงตามใบรับรองแพทย์ หรือกรณีลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงานมีสิทธิได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้าง รายเดือนเป็นระยะเวลา 10 ปี จ่ายให้กับผู้มีสิทธิตามกฎหมาย เช่นเดียวกับกรณีสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ ลูกจ้างจะได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน โดยกรณีทุพพลภาพจะได้รับค่าทดแทนตลอดชีวิต ส่วนกรณีสูญเสียอวัยวะจะได้รับคำทดแทน 10 ปี แล้วแต่ประเภทของอวัยวะที่สูญเสีย ซึ่งการจะได้ค่าสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพลูกจ้างจะต้องได้รับการประเมินเมื่อการรักษาพยาบาลสิ้นสุดการรักษา หรืออวัยวะคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือเมื่อพันกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตราย

 

ขณะที่ “กองทุนประกันสังคม” เป็นการนำส่งเงินสมทบจากลูกจ้าง นายจ้างและรัฐบาลเพื่อสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิต ซึ่งให้ความคุ้มครองลูกจ้าง “7 กรณี” ดังนี้

1.กรณีเจ็บป่วย เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวัน     รับบริการทางการแพทย์ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาพยาบาล

2.กรณีคลอดบุตร เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือน  ที่คลอด จะได้รับค่าคลอดบุตร 15,000 บาท สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

3.กรณีทุพพลภาพเมื่อจ่ายเงินสมทบ ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ก่อนทุพพลภาพ อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ผู้ประกันตนได้รับการดูแลรักษาพยาบาล เงินทดแทนการขาดรายได้ ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน(ค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาท) ตลอดชีวิต

4.กรณีเสียชีวิต เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนถึงแก่ความตาย โดยจ่ายให้กับครอบครัวหรือทายาทของผู้ประกันตน จะได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท และได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย (ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด)

5.กรณีสงเคราะห์บุตร เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่าย เดือนละ 800 บาทต่อบุตรหนึ่งคน เป็นเวลา  6 ปี ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ สามารถขอใช้สิทธิได้คราวละไม่เกิน 3 คน

6.กรณีชราภาพเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต จะได้รับเงินบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพ ตามจำนวนเงินที่จ่ายเข้าประกันสังคม พร้อมทั้งเงินสมทบจากนายจ้าง และผลตอบแทนจากกองทุนประกันสังคม แต่หากมีการจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 1 ปี จะได้รับเพียงเงินที่ตนจ่ายเงินสมทบเท่านั้น

7.กรณีว่างงานเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน และขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้าง (ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด)

 

อย่างไรก็ตาม”กองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคม” เป็นสิทธิประโยชน์ดีๆ ที่ลูกจ้างทั้งรัฐและเอกชนพึงได้รับเพื่อร่วมสร้างสรรค์แรงงานที่มีหลักประกันถ้วนหน้าอย่างยั่งยืน สอบถามรายละเอียดได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือเว็บไซต์ www.sso.go.th

Facebook Comments Box